วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

พร ภิรมย์-บุญสม มีสมวงษ์


 พร ภิรมย์ - ราชาเพลงแหล่

บุญสม มีสมวงษ์ หรือ พร ภิรมย์ เกิดเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2471 เป็นชาว อ. พระนคร ศรีอยุธยา จ.อยุธยา เป็นบุตรนายประเสริฐ และนางสัมฤทธิ์ มีสมวงษ์ ซึ่งเป็นครอบครัวลิเก เขาจึงสนใจศิลปะการแสดงของไทยทุกแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องปี่พาทย์ และเชี่ยวชาญในเรื่องเพลงไทยเดิมอย่างมาก ทั้งในเรื่องร้องและเล่น ว่ากันว่าความรู้เรื่องดนตรีนั้นเขาได้มาจากครูบุญยัง - บุญยง เกตุคง 2 พี่น้องศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับไปแล้ว พร ภิรมย์ จบการศึกษาชั้นมัธยม 3จากโรงเรียนวัดบพิตรพิมุข ในกรุงเทพฯ หลังจบการศึกษา ก็เลิกเรียนเพราะไปหัดร้องเพลงแล้วได้ค่าตัวดีมาก นอกจากนั้นก็ยังรับทำขวัญนาค และพากย์หนัง จากนั้นก็ไปอยู่กับคณะงิ้ว ต่อมาได้รู้จักกับเสน่ห์ โกมารชุน ที่ชักชวนให้เขามาเล่นลิเก เขาตระเวนเล่นลิเก ทั้งในกรุงเทพฯ อยุธยา และโคราช จนขึ้นชั้นเป็นพระเอกลิเกชื่อดัง โดยใช้ชื่อว่าบุญสม อยุธยา เมื่อมาอยู่ในคณะเกศคง ดำรงศิลป์ ของ บุญยงค์ เกศคง ต่อมาย้ายมาอยู่คณะหอมหวล และที่นี่พร ภิรมย์ ก็โด่งดังสุดขีดในบทจะเด็ด แห่งเรื่องผู้ชนะสิบทิศ จนในปี 2501 ครูมงคล อมาตยกุล หัวหน้าวงดนตรีจุฬารัตน์ ต้องมานั่งดูอยู่สองคืน แล้วชวนมานั่งคุยที่ร้านข้าวต้มข้างร้านนพรัตน์ อันเป็นร้านขายเสื้อผ้าชื่อดังย่านบางลำพู เพื่อชวนมาเป็นนักร้องในวง



วันรุ่งขึ้นครูมงคลนัด พร ภิรมย์ ให้ไปพบที่ห้างแผ่นเสียงดีคูเปอร์ ที่อาคาร 4ราชดำเนิน เพื่อดูนักร้องดังๆ อัดแผ่นเสียงกัน แล้วพาไปเลี้ยงอาหาร ที่ห้องวีไอพี ร้านอาหารเฉลิมชาติ (ต่อมาคือโรงภาพยนตร์พาราไดส์) แล้วต่อเพลงกันที่นี่ พร ภิรมย์ ร้องไป ครูมงคลก็เคาะนิ้วเป็นจังหวะพร้อมเขียนโน้ตเสร็จสรรพ 3 เพลงที่พระเอกลิเกร้องเองแต่งเอง ทั้งสองรู้จักกันวันอังคาร มาต่อเพลงกันวันพุธ อัดเสียงวันพฤหัสบดี ในเพลง 'ลมจ๋า'


3 เพลงแรกคือ “ลมจ๋า” , “ กระท่อมทองกวาว “ , “ลานรักลานเท “ ยังไม่ดัง จากนั้นก็หันไปร้อง “ ดอกฟ้าลับแล” ของ ไพฑูรย์ ไก่แก้ว ก็ยังไม่ดังอีกจนเริ่มท้อ และอยากกลับไปเล่นลิเกตามเดิม แต่ในเพลงที่ 5 “ บัวตูมบัวบาน “ ที่พร ภิรมณ์ ร้องเองแต่งเองอีกครั้ง และกะว่าจะเป็นเพลงสุดท้าย ถ้าไม่ดังก็จะเลิกร้องเพลง แต่เพลงนี้ก็ทำให้เขาแจ้งเกิดสำเร็จในปี 2503 เพลงนี้ทำให้เขามีชื่อเสียงคับบ้านคับเมือง และกลายมาเป็นหนึ่งในสี่ทหารเสือของวงจุฬารัตน์

พร ภิรมย์ ร้องเพลงอยู่กับวงดนตรีจุฬารัตน์หลายปี มีผลงานบันทึกเสียงประมาณ 200 เพลง โดยเพลงที่ร้องส่วนใหญ่ คือร้อยละ 95 เขาเป็นผู้แต่งเอง โดยใช้นามปากกาว่าบุญสม อยุธยา



เอกลักษณ์ความโดดเด่นในเพลงของพร ภิรมย์ ที่หาใครเสมอเหมือนก็คือการเขียนเพลงในแนวนิทานชาดก เพลงแฝงธรรมะ และเพลงลีลาไทย ใช้ภาษาพลิ้วสวยงาม จนบางคนเยกเขาว่าคีตกวี เขาใช้ดนตรีไทยเดิมเป็นพื้นฐาน ด้วยเทคนิคการแหล่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร โดยเพลงที่ได้รับความนิยมก็อย่างเช่นเพลง "บัวตูมบัวบาน" , "ดาวลูกไก่" , "ดาวจระเข้" , "วังแม่ลูกอ่อน" , "กลับเถิดลูกไทย", จำใจจาก, น้ำตาลาไทร, เห่ฉิมพลี, วังแม่ลูกอ่อน , ไม้หลักปักเลน เป็นต้น
เมื่อครั้งชาย เมืองสิงห์ มาสมัครเป็นนักร้องในวงดนตรีจุฬารัตน์ ครูมงคล อมาตยกุล ก็ยกหน้าที่การตัดสินชะตากรรมของชาย เมืองสิงห์ ว่าจะได้เป็นนักร้องในวงหรือไม่ให้กับพร ภิรมย์ เมื่อเขาจะต้องแหล่สดๆโต้กับพร ภิรมย์ ออกอากาศทางวิทยุ ซึ่งคนในวงการลูกทุ่งถือกันว่าครั้งนั้น เป็นการโคจรมาเจอกันของสองอัจฉริยะในด้านนี้ในแบบที่คลาสสิกมากๆ


พร ภิรมย์ ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน 2 ครั้งจากเพลงบัวตูมบัวบาน และ ดาวลูกไก่ และได้รับรางวัลกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ในปี พ.ศ. 2532 จากเพลงบัวตูมบัวบาน และ พ.ศ. 2534 จากเพลงดาวลูกไก่

พร ภิรมย์ บวชเป็นพระภิกษุ ฉายา “ปุญญวังโสภิกขุ “ อยู่ที่วัดรัตนชัย (วัดจีน)ต.หอรัตนชัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ. พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 โดยตอนแรกตั้งใจจะบวช 3 เดือน เพื่อจะแผ่ส่วนกุศลถวายแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่นำเรื่องของพระองค์มาเขียนเป็นบทเพลง แต่เมื่อถึงกำหนดลาสิกขาบท พร ภิรมย์  ก็มิได้ลาสิกขาบทแต่อย่างใด
ถือได้ว่าพร ภิรมย์ เป็นอัจฉริยะอีกคนหนึ่ง เพราะมีความสามารถในด้านต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง , แต่งเพลง, เล่นลิเก, พากย์หนัง, แสดงภาพยนตร์, เล่นดนตรีจีน, กลอนสด และทำขวัญนาค รวมทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดแห่งเจ้าพ่อเพลงแหล่ และเป็นนักร้องนักแต่งเพลงผู้โด่งดังและเป็นแบบอย่างกับนักร้องลูกทุ่ง รุ่นหลังๆหลายต่อหลายคน โดยนอกจาก ไพบูลย์ บุตรขันแล้ว พร ภิรมย์ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่แต่งเพลงใช้คำที่วิจิตร และมีความหมาย เพลงของ พร ภิรมย์ ทุกเพลงเป็นตัวอย่างการใช้ภาษาไทยได้ดีที่สุด ทุกเพลงรักษาฉันทลักษณ์และชั้นเชิงกานท์กวีไว้ได้อย่างไม่มีจุดบกพร่อง และทุกเพลงไม่ก่อให้เกิดกำหนัด ซึ่งท่านใช้คำว่า เพลงใฝ่ต่ำ จึงถือกันว่าเพลงของ พร ภิรมย์ เป็นเพลงสะอาดบริสุทธิ์ โดยเจ้าตัวเคยบอกว่าเราเกิดมาชาติหนึ่งพึงสำนึกว่าจะสามารถตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ครูบาอาจารย์อุปัชฌาย์ได้อย่างไร และสิ่งที่ท่านยึดเป็นหลักการส่วนตัวของท่านคือการเขียนเพลงโดยไม่ทำลายภาษาไทย

รางวัลที่ได้รับจากผลงานเพลงที่เป็นที่รู้จักได้แก่


ปีพ.ศ. 2509 รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ถึง 2 รางวัล จากเพลงบัวตูมบัวบาน และ ดาวลูกไก่

ปีพ.ศ. 2514 รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากเพลง กลับเถิดลูกไทย

ปีพ.ศ. 2532 รางวัลกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย จากเพลงบัวตูมบัวบาน

ปีพ.ศ. 2534 รางวัลกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย จากเพลง ดาวลูกไก่

ปีพ.ศ. 2553 รางวัลพระคเณศ กรมศิลปากร จากเพลง ดาวลูกไก่

ปีพ.ศ. 2553 รางวัลการเชิดชูปูชนียบุคคลเกียรติยศ ทางด้านผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นแห่งชาติ

จนเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2553 เวลา 12.00 น.  หลวงพ่อพร ภิรมย์ อดีตนักแต่งเพลงดังอมตะ อย่างเพลง ดาวลูกไก่, บัวตูมบัวบาน ได้มรณภาพอย่างสงบจากอาการปอดติดเชื้อ หลังอาพาธ เนื่องจากเส้นเลือดสมองตีบ ขาขวาไม่มีแรงเดิน     หลังเข้ารักษามาเป็นเวลานานหลายเดือน ณ โรงพยาบาลสงฆ์ รวมอายุได้ 82 ปี พรรษา 29

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น