วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554

ชาตรี ศรีชล-สมบุญ ลีเส็ง

ชาตรี ศรีชล - นักเพลงคนเมา
สมบุญ ลีเส็ง หรือชาตรี ศรีชล เกิดเมื่อ 9เมษายน 2492 เป็นบุตรนายเผือก นางสอน ลีเส็ง มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่บ้านเลขที่ 14 หมู่ 10 บ้านนากระรอก ต.ทุ่งขวาง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี จบการศึกษาสูงสุดชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6จากโรงเรียนชลราษฎร์อำรุง ก้าวเข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่งด้วยการไปสมัครร้องเพลงกับวง "รวมดาวกระจาย"ของครูสำเนียง ม่วงทองในยุคแรกบ้างก็ว่าการที่เขาชอบกัญชา ก็เลยตั้งชื่อให้ตัวเองว่าชาตรี อย่างเป็นงานเป็นการไปเสียเลย เมื่อสุรพล สมบัติเจริญเสียชีวิตไปเมื่อปี 2511 และนักร้องทีมงานเก่าๆ แยกตัวไปตั้งวงศิษย์สุรพลกันหมดแล้ว ศรีนวล สมบัติเจริญ ภรรยาของครูสุรพล ก็ได้ตั้งวงดนตรีใหม่ตามที่แฟนเพลงเรียกร้อง ทั้งๆ ที่ ก็ไม่ค่อยถนัดเรื่องการร้องรำทำเพลงมากนัก จึงได้ประกาศรับสมัครนักร้อง ซึ่งก็มีนักร้องมาสมัครกับวงนี้มากมาย ทั้งชาตรี ศรีชล และโรม ศรีธรรมราช ที่นี่ ชาตรี ศรีชลแต่งเพลงและช่วยเคาะจังหวะการร้องเพลงให้สีนวลในช่วงแรกๆคือเพลง "รักหน่อยนะ" จนสีนวลมีชื่อเสียง

การที่วงไม่มีนักร้องดังนี่เองที่เป็นช่องว่างให้ชาตรี ศรีชล ได้แจ้งเกิด ข้อมูลส่วนหนึ่งบอกว่า ในปี 2512 เขาได้ ร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกคือเพลงบัวหลวง (ซึ่งแต่งไว้ก่อนเข้าวงการ) ชาตรี ศรีชล เก่งทั้งด้านการร้องเพลง และการแต่งเพลง และเพียงสามเพลงแรกร้องเองแต่งเองในยุคหลังเข้าวงการ โดยการสนับสนุนของศรีนวล คือเพลงสมัครรักสมัครแฟน,ช้ำรักจากเมืองชล และทหารห่วงเมีย ชาตรี ศรีชล ก็ดังระเบิด ถึงขนาด ครูไพบูลย์ บุตรขัน ต้องขอดูตัว และผลของการดูตัว ทำให้ชาตรีได้เพลงจากครูไพบูลย์ มาร้องเสริมความดัง นั่นก็คือเพลงเมาเหล้าเมารัก ซึ่งก็เขียนตามแบบครูเพลงมืออาชีพ คือจะเขียนเพลงโดยสกัดวัตถุดิบจากตัวคนร้องนั่นเอง


แต่วงดนตรีวงนี้อยู่ได้ไม่นานก็ต้องเลิกวงไป ปี 2513 ชาตรี ศรีชลก็เลยตั้งวงดนตรีขึ้นมาใหม่ และต่อมาชาตรี ศรีชล ก็ได้มีโอกาสร้องเพลงทำนองอินเดียด้วย อย่างเพลง ธรณีชีวิต เพลงโฉมนาง ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ที่เข้ามาฉายในไทย ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของชาตรี ดังมากขึ้นไปอีก แต่ขณะที่กำลังดังๆอยู่นั้น ชาตรี ศรีชลก็หายตัวไปจากวงการ โดยในวันที่เกิดเรื่อง วงดนตรีชาตรี ศรีชล ไปเปิดการแสดงอยู่ที่ระยอง วันนั้นก็มีสารวัตรทหารมาดูแลความเรียบร้อยด้วย เมื่อทำการแสดงเสร็จ สารวัตรทหารก็ขึ้นรถมาด้วย ทุกคนคิดว่าสารวัตรทหารจะขอกลับด้วย ก็เลยมาส่งถึงฐานทัพเรือสัตหีบ แต่พอถึง ปรากฏว่าสารวัตรทหารขอเชิญชาตรี ศรีชล ลงจากรถ พร้อมแจ้งข้อหาว่า ชาตรี ศรีชล หนีทหาร ทำให้ต้องติดคุกคุกอยู่ 1 ปี 3 เดือน คนในวงดนตรีร้องไห้กันระงม เพราะขาดหัวเรือใหญ่ งานต่างๆ ที่รับไว้เป็นปีๆ ก็ต้องหยุดไปโดยปริยาย งานนี้เจ้าตัวบอกว่าโดนพวกไม่หวังดีกลั่นแกล้ง
จากความกลัดกลุ้มในคุกนี่เองที่ทำให้เขาหันเข้าหาความเมาทั้งชนิดน้ำ ชนิดควัน ชนิดดูด และฉีด ออกจากคุกมาตั้งวงดนตรีอีกครั้ง และเกิดอีกทีด้วยเพลง "ไปเอาเหล้ามา" จากงานประพันธ์ของตัวเอง แต่ยังไม่วายโดนแกล้ง ปล่อยข่าวนาๆจนเจ้าภาพขยาดไม่กล้าจ้างไปแสดง ชาตรีเลยยิ่งเครียดและเมาหนักกว่าเดิม หลังเลิกวงแล้วก็ร้องเพลงตามห้องอาหารและรับเชิญเป็นบางโอกาส และในที่สุดก็ต้องเดินเข้าออกโรงพยาบาลและจบชีวิตไปเพราะยาเสพติดไปเมื่อ16 พฤษภาคม 2532 ที่โรงพยาบาลชลบุรีรวมอายุได้ 40 ปี


สำหรับชีวิตครอบครัว จากบทเพลง "ช้ำรักจากเมืองชล" ที่เนื้อหาของเพลงส่วนหนึ่งมีว่า "พี่ยากจนจากชลบุรี ขอน้องปราณีสงสารพี่หน่อย" แต่เจ้าตัวไม่ชำรักแน่ เพราะคนชื่อ " ปราณี " ที่ปรากฏในบทเพลงคือคู่ชีวิตในเวลาต่อมา สมรสกับนางปราณี มีบุตรด้วยกัน 4 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 3 คน
ชาตรี ศรีชล ชอบคำรณ สัมบุณณานนท์ เขามีร่องเสียงที่เดินมาตามรอยของคำรณ และเคยนำเพลงของครูคำรณมาร้องหลายเพลงเช่น ชายสามโบสถ์ ,บ้านนาป่าร้าง เพลงที่เขาแต่งเองหลายเพลงก็มีเค้าแบบเพลงของคำรณ เช่นซมซาน ,หลังคาแดง และชาตรี ศรีชล ก็มาตายเสียตั้งแต่อายุยังน้อยจากผลของยาเสพติดแบบเดียวกับครูคำรณเสียด้วยในวงการลูกทุ่ง ต้องนับว่าชาตรี ศรีชล เป็นนักเพลงจอมเมาตัวจริงเสียงจริงคนหนึ่ง เจ้าตัวยอมรับว่า เวลาไม่เมามักเขียนเพลงไม่ได้เรื่อง เขาบอกว่าเพลงดังๆที่ออกมาจากฤทธิ์กัญชาก็อย่างเช่น ทหารห่วงเมีย,หลังคาแดง, สมัครรักสมัครแฟน, ซมซาน

ส่วนในยุคที่เขาหยุดเหล้าและยาเสพติด ปรากฏว่าผลงานไม่เป็นที่ประทับใจแฟนเพลงเอาเสียเลย เพลงที่ชาตรี ศรีชลประพันธ์ไว้มีอยู่ราว 200 เพลง โดยเพลงที่ยังไม่เคยบันทึกเสียงมีราว 100 เพลง

ตอนแต่งเพลงสาวผักไห่ ชาตรี ศรีชล เมาหนักกว่าปกติ เพราะเมาผงขาวผสมเมาเหล้า เขาเล่าไว้ว่าบ่ายวันหนึ่ง ราวปี 2517ช่วงนั้นเขานิยมฉีดผงเข้าเส้นเป็นประจำ พอเมาผงได้ที่ ตอนบ่ายว่างๆ ก็มานั่งกินเหล้าต่อที่ร้านปากซอยบุปผาสวรรค์กับทม นทีทอง นักร้องอีกคนหนึ่ง พอเมาได้ที่อารมณ์เพลงก็มาเอง 20 นาทีต่อมา เพลงสาวผักไห่ ที่ออกมาจากสมองเมาๆของเขาก็เรียบร้อยแม้ว่าเขาจะไม่เคยไปที่ผักไห่แต่อย่างใด โดยเคยเห็นผักไห่แต่บนป้ายทางหลวงเท่านั้นเอง จากนั้นเขาบอกขายเพลงนี้ให้กับ ทม นทีทอง ในราคา 100 บาท เพื่อหาค่าเหล้า แต่ทมไม่ซื้อเพราะเห็นว่ายังเมาๆ อยู่ ชาตรีโกรธ จึงพับกระดาษเพลงใส่กระเป๋า ต่อมามนต์ เมืองเหนือ ชวนชาตรี ศรีชล มาอัดเพลงใหม่ และเพลงนี้ จากการทำดนตรีของพีระ ตรีบุปผา ก็ทำให้ชาตรี ศรีชล กลับมาดังอีกครั้ง


http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5_%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%8A%E0%B8%A5

วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

ยอดรัก สลักใจ-นิพนธ์ ไพรวัลย์

ยอดรัก สลักใจ มีชื่อเล่นว่า แอ๊ว เกิดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 ที่ ตำบลงิ้วราย อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เป็นบุตรนายบุญธรรม และ นางบ่าย ไพรวัลย์ มีพี่น้อง 8 คน ชาย 7 คน หญิง 1 คน โดยยอดรักเป็นคนสุดท้อง จบการศึกษา ชั้น ประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านหาดแตงโม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เนื่องจากทางบ้านไม่มีเงินส่งเสียค่าเล่าเรียน บิดาเสียชีวิตตั้งแต่อายุ 7ขวบ มารดายากจนและมีพี่น้องหลายคน ได้ออกเร่ร่อนร้องเพลงที่บาร์รำวง ได้เงินคืนละ 5 -10 บาท (ประมาณ 35-70 บาทในปัจจุบัน) ได้เงินมาก็หาซื้อหนังสือมาอ่านเอง และเรียนด้วยตนเอง จนกระทั่งได้เรียนที่โรงเรียนถาวรวิทยา อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ โดยเรียนการศึกษาผู้ใหญ่  และสอบเทียบจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3ยอดรัก สลักใจ ได้มีโอกาสเข้าเรียนที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2534 และศึกษาต่อจนกระทั่งปี พ.ศ. 2537 ได้รับปริญญาครุศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศศ.บ.) สาขาศิลปศาสตร์ สายดนตรีและศิลปะ การแสดง วิทยาลัยครูธนบุรี พ.ศ. 2550 ยอดรักถูกตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งตับระยะแรก และในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2551 เวลา 01.05 น. ยอดรัก สลักใจ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับที่ โรงพยาบาลพระรามเก้า กรุงเทพมหานคร หลังจากระบุว่าจะไม่ยอมรับการรักษาใดๆ อีก และไม่ต้องทำการช่วยชีวิตแม้อาการจะทรุดหนักก็ตาม โดยพิธีศพของยอดรักได้จัดขึ้นไว้ ณ ที่วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม และพระราชทานเพลิงศพ ที่วัดหาดแตงโม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร



ความฝันในวัยเด็กของด.ช. นิพนธ์ ไพรวัลย์(แอ๊ว) คืออยากเป็นหมอรักษาคนไข้ แต่ว่าทางบ้านไม่มีเงินส่งเสียค่าเล่าเรียน เลยจำเป็นต้องลาออกทั้งที่ใจอยากเรียน และต่อมาก็มีคณะรำวงคณะหนึ่งมาเล่นที่ จังหวัดพิจิตร ชื่อคณะรำวง “เกตุน้อยวัฒนา” ด.ช.นิพนธ์ ไพรวัลย์(แอ๊ว)จึงได้ไปสมัครร้องเพลงที่นั่น และทุกครั้งหลังจากเชียร์รำวงเลิก ก็จะได้เงินมาครั้งละ5-10บาท และต่อมาได้ผันตัวเองเข้ามาร้องเพลงในห้องอาหารย่าน ตาคลี จ.นครสวรรค์ โดยได้ใช้เพลงของไพรวัลย์ ลูกเพชร ชาย เมืองสิงห์ สุรพล สมบัติเจริญ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เป็นต้น จนกระทั่งวันหนึ่ง เด็ดดวง ดอกรัก ซึ่งเป็นนักจัดรายการดังของสถานีวิทยุ ท.อ.04 ตาคลี ได้มาฟังเพลงที่ห้องอาหารนี้ วันนั้นแอ๊ว ได้ร้องเพลง ใต้เงาโศก ของ ไพรวัลย์ ลูกเพชร เสียงร้องเพลงของแอ็ว เป็นที่ประทับใจของเด็ดดวง ดอกรักมาก จึงได้มาพูดคุยและชักชวนเข้าสู่วงการ โดยตั้งชื่อให้ว่า “ยอดรัก ลูกพิจิตร” และได้บันทึกแผ่นเสียง 7 เพลงคือ

1 สงกรานต์บ้านทุ่ง

2 น้ำสังข์ น้ำตา

3 เต่ามองดวงจันทร์

4 คนบ้านนอก

5 จากใต้ถึงอีสาน

6 รักสาวมอญ

7 รักสาวไกลบ้าน

แต่งโดย อ.ชลธี ธารทอง ทั้ง 7 เพลง สองเพลงแรก เรียบเรียงดนตรีโดย สมัคร วงศ์สาโรจน์และเพลงเต่ามองดวงจันทร์ เรียบเรียงดนตรีโดย วงดนตรียอดรัก ลูกพิจิตร


ก่อนที่จะบันทึกแผ่นเสียงนั้น เด็ดดวง ดอกรัก ได้นำยอดรัก ลูกพิจิตร มาฝากกับ อาจารย์ชลธี ธารทอง ยอดรักก็ได้อยู่เลี้ยงลูกให้อาจารย์ชลธี ธารทอง มาเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี อาจารย์ชลธี ก็หาแนวทางว่ายอดรักจะไปแนวไหนดี เพราะว่าช่วงนั้น สายัณห์ สัญญากำลังดังเป็นพลุแตก ในเพลง ลูกสาวผู้การ รักเธอเท่าฟ้า จึงคิดแนวทางให้ยอดรัก ฉีกไปอีกแบบหนึ่ง จนกระทั่ง มีวันหนึ่ง ได้เกิดสงครามทางชายแดนขึ้น ในปีพ.ศ.2518เหล่าทหารที่รอดตายจากสงครามก็ได้มาออกโทรทัศน์ว่า คนที่อยู่แนวหน้าลำบากมากเหลือเกิน อยากให้แนวหลังช่วยส่งกำลังใจไปช่วยบ้าง อาจารย์ ชลธี ธารทอง ก็เลยแต่งเพลง“จดหมายจากแนวหน้า” มาให้ยอดรักได้ร้องในปลายปี 2518 และตอนที่บันทึกแผ่นเสียงเพลงจดหมายจากแนวหน้านั้น อาจารย์ ชวนชัย ฉิมพะวงศ์ ได้เปลี่ยนนามสกุลจากยอดรัก ลูกพิจิตร มาเป็น ยอดรัก สลักใจ โดยที่เปลี่ยนนามสกุลยอดรักนั้น อาจารย์ชวนชัยได้ให้เหตุผลไว้ว่า ชื่อยอดรักนั้นเพราะอยู่แล้วมีความหมายที่ดีเป็นที่รักของทุกๆคน และเมื่อมียอดรักแล้ว เราก็ต้องสลักไว้ในใจแฟนเพลง จึงเป็นที่มาของชื่อ ยอดรัก สลักใจ

วงดนตรียอดรัก สลักใจ

เริ่ม ก่อตั้งเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2519 โดยมี เด็ดดวง ดอกรัก เป็นผู้จัดการวงดนตรี แสดงที่หนองบัว จ.นครสวรรค์ และวงดนตรียอดรัก สลักใจก็ยังเป็นวงดนตรี ที่ครองแชมป์รายได้ 3ปีซ้อน ในสมัยที่มาทำวงเอง กับพนม นพพร ในยุคของเพลงชุด โกลเด้นท์ซอง เอาแน่ อยู่กับยาย ยิ้มให้คุณ เป็นต้น มาถึงวงดนตรี ยอดรัก สลักใจ ในยุคประมาณปลายปีพ.ศ. 2537 หรือช่วงที่เปิดค่าย สลักใจ โปรโมชั่น นักร้องในวงจะมีดังนี้

1 น้องรัก ก้องสยาม

2 สาลิกา กิ่งทอง

3 ภูพาน เพชรปฐมพร

4 เสมา ทองคำ

5 อัศวิน ศรีทอง

6 เกรียงไกร กรุงสยาม

7 กนกพร จันทร์เพ็ญ

8 ดาวใจ สลักจิต

9 วิชัย ศรีวิเชียร

10 พลอยดี สีฟ้า

11 เรืองรอง ไพลิน

12 สุพรรณ สันติชัย

13 ยอดรัก สลักใจ


โฆษกในวงดนตรี

1 รุ่งโรจน์ พัทลุง (เป็นโฆษกคู่ใจของยอดรัก)

2 สยาม สุริยา (พี่นู)

3 แสนรัก เมืองโคราช ประมาณ ปี พ.ศ. 2527

4 ปัญญา กตัญญู ประมาณ ปี พ.ศ. 2529

5 ภูพาน เพชรปฐมพร

6 ศรีแพร โพธิ์แก้ว

7 เจษฎา เรืองนาม

8 พิเชษฐ์ พิชัยยุทธ


ตลกที่เคยแสดงในวงดนตรี ยอดรัก สลักใจ มีดังนี้

1 ดาร์กี้(ไพฑูรย์ ขันทอง)

2 ยาว อยุธยา

3 สีทอง เชิญยิ้ม



ผลงานเพลง

เพลงที่ทำชื่อเสียงให้ชุดแรก มี จ.ม.จากแนวหน้า น้ำสังข์หลั่งน้ำตาริน ห่มธงนอนตาย ทหารเรือมาแล้ว หลังจากนั้นมี ผลงานเพลงที่ขับร้องเอง อีกเกือบ 4000เพลง งานเพลงชุดสุดท้ายก่อนเสียชีวิตคือ มะเร็งไม่มายิง ออกโดยค่าย ​เอส เอส มิวสิค เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ซึ่ง ยอดรัก สลักใจ ได้รับค่าตอบแทน เป็นเงิน 570,000 บาท (ห้าแสนเจ็ดหมื่นบาท) และเพลงสุดท้ายที่ยอดรักขับร้อง คือ เพลง "ยอดรัก "ซึ่ง บอย โกสิยพงษ์ เป็นผู้แต่งเนื้อร้องและทำนอง

ผลงานเพลงที่ ยอดรัก สลักใจ บันทึกเสียงถึง 9ครั้ง และมีศิลปินเพลงรายอื่นนำไปขับร้องอีกเป็นจำนวนมากคือเพลง สามสิบยังแจ๋ว

เพลง สามสิบยังแจ๋ว ที่ขับร้องโดย ยอดรัก สลักใจ
ครั้งแรก ในชุด 30 ยังแจ๋ว ค่ายอโซน่า

ครั้งที่ 2 ในชุด ลูกทุ่งทองแท้ ชุดที่ 1 ค่ายนิธิทัศน์

ครั้งที่ 3 ในชุด อำลาอาลัย 15 ปียอดรัก ค่ายอามีโก้

ครั้งที่ 4 ใน ชุด ลวดลายยอดรัก ค่ายโรต้า

ครั้งที่ 5 ในชุด ท็อปฮิตลูกทุ่งมาตรฐาน ชุดที่ 6 ค่าย อาร์เอสโปรโมชั่น

ครั้งที่ 6 ในชุด เบรกไม่อยู่ชุดที่ 1 ค่าย PGM

ครั้งที่ 7 ในชุด คณะบุญหลายมันส์หยุดโลก ชุด ที่ 1 ค่าย มาสเตอร์เทป

ครั้งที่ 8 ในชุด ต้นฉบับเพลงทอง ค่ายโรสวีดีโอ (ปัจจุบันคือ โรสมีเดีย)

ครั้งที่ 9 ในชุด ยอดรักยอดฮิต ค่ายกรุงไทย

ภาพยนตร์

[2550] อีส้มสมหวัง ..... ยอดรัก สลักใจ

[2545] มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟเอ็ม ..... โจรพันหน้า

[2541] เสือ โจรพันธุ์เสือ ..... หมอ

[2533] สงครามเพลงแผน 2 (คู่กับ สุนารี ราชสีมา)

[2532] อ้อนรักแฟนเพลง (คู่กับ ศิรินทรา นิยากร)

[2531] อยู่กับยาย (คู่กับ ศิรินทรา นิยากร)

[2530] เพลงรัก เพลงปืน (คู่กับ พุ่มพวง ดวงจันทร์)

[2528] นักร้องพ่อลูกอ่อน (คู่กับ จารุณี สุขสวัสดิ์)

[2527] เสน่ห์นักร้อง (คู่กับ สายัณห์ สัญญา)

[2527] ทหารเกณฑ์เจอผี

[2527] ไอ้หนุ่มรถอีแต๋น (คู่กับ ปิยะมาศ โมนยะกุล)

[2527] อีแต๋น ไอเลิฟยู (คู่กับ พุ่มพวง ดวงจันทร์)

[2527] สาลิกาลิ้นทอง (คู่กับ อภิรดี ภวภูตานนท์)

[2527] สาวนาสั่งแฟน (คู่กับ พุ่มพวง ดวงจันทร์)

[2526] สงครามเพลง (คู่กับ พุ่มพวง ดวงจันทร์)

[2522] เรือเพลง (คู่กับ วาสนา สิทธิเวช)


ละครโทรทัศน์

[2545] มนต์รักแม่น้ำมูล ..... ยอดรัก

[2544] อะเมซซิ่งโคกเจริญ ..... อาจารย์เอ๋อ

[2541] สุรพลคนจริง ..... ปรีชา

[2541] สวรรค์บ้านทุ่ง ..... แสง

[2538] มนต์รักลูกทุ่ง ..... บุญเย็น

[2533] ล่องเรือหารัก (คู่กับ ปภัสรา ชุตานุพงศ์ )

 รางวัลเกียรติยศ

พ.ศ.2520ได้รับรางวัลพระราชทานเสาอากาศทองคำ ประเภทนักร้องยอดเยี่ยมในเพลง ทหารเรือมาแล้ว


พ.ศ.2522ได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ ประเภทนักร้องยอดนิยมลูกทุ่งชาย จากสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (28 ธันวาคม 2533)

พ.ศ. 2523 ได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ เพลง กำนันกำใน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะที่เป็นผู้มีความสามารถใช้ภาษาไทยได้ถูกต้อง ไพเราะ เป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ เป็นตัวอย่างอันดีแก่เยาวชน

พ.ศ. 2523-2524 ได้รับรางวัลทีวีตุ๊กตาทองมหาชน โดยคะแนนเสียงจากประชาชนทั่วประเทศ 2 ปีซ้อน ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์บ้านเมือง

พ.ศ.2532ได้รับรางวัลพระราชทานเพลงดีเด่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เนื่องในการจัดงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ในเพลง จักรยานคนจน

พ.ศ. 2533 ได้รับเกียรติให้ร้องเพลงชนะเลิศจากการประกวดวันแม่แห่งชาติ และเป็นเกียรติสูงสุดที่ได้ร้องถวายในวันครบรอบ 90 พรรษา สมเด็จย่า ในเพลง สมเด็จย่า

พ.ศ.2534 ได้รับรางวัลพระราชทานเพลงดีเด่น เนื่องในการจัดงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2 ในเพลง ทหารใหม่ไปกอง

พ.ศ.2551ได้รับรางวัล "ปริยศิลปิน" จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในฐานะที่เป็นศิลปินที่เป็นที่รักของประชาชน ซึ่งถือเป็นรางวัลเกียรติยศภายหลังการเสียชีวิตแล้ว และถือเป็นศิลปินคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ด้วย
ที่สุด ยอดรัก สลักใจ
ยอดรัก สลักใจ นำเพลงของ สายัณห์ สัญญา มาขับร้องมากที่สุด



เพลงที่ยอดรัก สลักใจ บอกว่าร้องยากที่สุดคือเพลง ล่องเรือหารัก
เพลงที่ยอดรัก สลักใจ ถ่ายมิวสิคและเสี่ยงชีวิตมากที่สุดคือเพลง เอาแน่ เมื่อปี 2529ที่เสี่ยงชีวิตเพราะว่าตอนนี่ถ่ายมิวสิคเกิดรถคว่ำแต่ยอดรัก สลักใจไม่เป็นอะไรมาก ยอดรัก สลักใจเคยพูดไว้ว่าเสี่ยงชีวิตแทบตายดีที่รถยนต์ไม่ระเบิด แต่เพลงนี้ก็ดังสมใจ และเพลงนี้เป็นเพลงแรกที่ ยอดรัก สลักใจ ถ่ายมิวสิค และเป็นมิวสิคเพลงแรกของเมืองไทย


ยอดรัก สลักใจ รักครอบครัวมาก ยอดรัก สลักใจ เอาใจใส่เป็นอย่างดี เป็นหัวหน้าครอบครัวที่รับภาระทุกอย่างและเป็นที่พึ่งของคนในครอบครัว และยอดรัก สลักใจ ก็ยังเคยได้รับรางวัลลูกกตัญญูเช่นกัน


ยอดรัก สลักใจ บันทึกแผ่นเสียงไว้ที่ห้างแผ่นเสียงบรอดเวย์มากที่สุด อาทิเช่นชุด กำนันกำใน เปลี่ยนรักเปลี่ยนรถ ไอ้หนุ่มตู้เพลง คนรักหาย บ่มีจั๊กบาท ทหารสั่งเมีย ฝนหลงฟ้า ฯลฯ
ยอดรัก สลักใจ เกลียดจิ้งจกมากที่สุด แต่ชอบทานผัดเผ็ดคางคก



ยอดรัก สลักใจเป็นนักร้องที่บันทึกเสียงมากที่สุด จำนวนที่รวบรวมได้ในขณะนี้ 4,100 กว่าเพลง ยังมีเพลงที่ไม่ได้ทำออกมาขายอีกจำนวนมาก
สุนัขที่แพงที่สุด ของยอดรัก สลักใจ ราคาห้าแสนสามหมื่นบาท ชื่อ แม็ก พันธุ์ อัฟกันฮาวด์ และเป็นสุนัขที่ได้รับรางวัลเยอะมากๆ

วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

พร ภิรมย์-บุญสม มีสมวงษ์


 พร ภิรมย์ - ราชาเพลงแหล่

บุญสม มีสมวงษ์ หรือ พร ภิรมย์ เกิดเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2471 เป็นชาว อ. พระนคร ศรีอยุธยา จ.อยุธยา เป็นบุตรนายประเสริฐ และนางสัมฤทธิ์ มีสมวงษ์ ซึ่งเป็นครอบครัวลิเก เขาจึงสนใจศิลปะการแสดงของไทยทุกแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องปี่พาทย์ และเชี่ยวชาญในเรื่องเพลงไทยเดิมอย่างมาก ทั้งในเรื่องร้องและเล่น ว่ากันว่าความรู้เรื่องดนตรีนั้นเขาได้มาจากครูบุญยัง - บุญยง เกตุคง 2 พี่น้องศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับไปแล้ว พร ภิรมย์ จบการศึกษาชั้นมัธยม 3จากโรงเรียนวัดบพิตรพิมุข ในกรุงเทพฯ หลังจบการศึกษา ก็เลิกเรียนเพราะไปหัดร้องเพลงแล้วได้ค่าตัวดีมาก นอกจากนั้นก็ยังรับทำขวัญนาค และพากย์หนัง จากนั้นก็ไปอยู่กับคณะงิ้ว ต่อมาได้รู้จักกับเสน่ห์ โกมารชุน ที่ชักชวนให้เขามาเล่นลิเก เขาตระเวนเล่นลิเก ทั้งในกรุงเทพฯ อยุธยา และโคราช จนขึ้นชั้นเป็นพระเอกลิเกชื่อดัง โดยใช้ชื่อว่าบุญสม อยุธยา เมื่อมาอยู่ในคณะเกศคง ดำรงศิลป์ ของ บุญยงค์ เกศคง ต่อมาย้ายมาอยู่คณะหอมหวล และที่นี่พร ภิรมย์ ก็โด่งดังสุดขีดในบทจะเด็ด แห่งเรื่องผู้ชนะสิบทิศ จนในปี 2501 ครูมงคล อมาตยกุล หัวหน้าวงดนตรีจุฬารัตน์ ต้องมานั่งดูอยู่สองคืน แล้วชวนมานั่งคุยที่ร้านข้าวต้มข้างร้านนพรัตน์ อันเป็นร้านขายเสื้อผ้าชื่อดังย่านบางลำพู เพื่อชวนมาเป็นนักร้องในวง



วันรุ่งขึ้นครูมงคลนัด พร ภิรมย์ ให้ไปพบที่ห้างแผ่นเสียงดีคูเปอร์ ที่อาคาร 4ราชดำเนิน เพื่อดูนักร้องดังๆ อัดแผ่นเสียงกัน แล้วพาไปเลี้ยงอาหาร ที่ห้องวีไอพี ร้านอาหารเฉลิมชาติ (ต่อมาคือโรงภาพยนตร์พาราไดส์) แล้วต่อเพลงกันที่นี่ พร ภิรมย์ ร้องไป ครูมงคลก็เคาะนิ้วเป็นจังหวะพร้อมเขียนโน้ตเสร็จสรรพ 3 เพลงที่พระเอกลิเกร้องเองแต่งเอง ทั้งสองรู้จักกันวันอังคาร มาต่อเพลงกันวันพุธ อัดเสียงวันพฤหัสบดี ในเพลง 'ลมจ๋า'


3 เพลงแรกคือ “ลมจ๋า” , “ กระท่อมทองกวาว “ , “ลานรักลานเท “ ยังไม่ดัง จากนั้นก็หันไปร้อง “ ดอกฟ้าลับแล” ของ ไพฑูรย์ ไก่แก้ว ก็ยังไม่ดังอีกจนเริ่มท้อ และอยากกลับไปเล่นลิเกตามเดิม แต่ในเพลงที่ 5 “ บัวตูมบัวบาน “ ที่พร ภิรมณ์ ร้องเองแต่งเองอีกครั้ง และกะว่าจะเป็นเพลงสุดท้าย ถ้าไม่ดังก็จะเลิกร้องเพลง แต่เพลงนี้ก็ทำให้เขาแจ้งเกิดสำเร็จในปี 2503 เพลงนี้ทำให้เขามีชื่อเสียงคับบ้านคับเมือง และกลายมาเป็นหนึ่งในสี่ทหารเสือของวงจุฬารัตน์

พร ภิรมย์ ร้องเพลงอยู่กับวงดนตรีจุฬารัตน์หลายปี มีผลงานบันทึกเสียงประมาณ 200 เพลง โดยเพลงที่ร้องส่วนใหญ่ คือร้อยละ 95 เขาเป็นผู้แต่งเอง โดยใช้นามปากกาว่าบุญสม อยุธยา



เอกลักษณ์ความโดดเด่นในเพลงของพร ภิรมย์ ที่หาใครเสมอเหมือนก็คือการเขียนเพลงในแนวนิทานชาดก เพลงแฝงธรรมะ และเพลงลีลาไทย ใช้ภาษาพลิ้วสวยงาม จนบางคนเยกเขาว่าคีตกวี เขาใช้ดนตรีไทยเดิมเป็นพื้นฐาน ด้วยเทคนิคการแหล่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร โดยเพลงที่ได้รับความนิยมก็อย่างเช่นเพลง "บัวตูมบัวบาน" , "ดาวลูกไก่" , "ดาวจระเข้" , "วังแม่ลูกอ่อน" , "กลับเถิดลูกไทย", จำใจจาก, น้ำตาลาไทร, เห่ฉิมพลี, วังแม่ลูกอ่อน , ไม้หลักปักเลน เป็นต้น
เมื่อครั้งชาย เมืองสิงห์ มาสมัครเป็นนักร้องในวงดนตรีจุฬารัตน์ ครูมงคล อมาตยกุล ก็ยกหน้าที่การตัดสินชะตากรรมของชาย เมืองสิงห์ ว่าจะได้เป็นนักร้องในวงหรือไม่ให้กับพร ภิรมย์ เมื่อเขาจะต้องแหล่สดๆโต้กับพร ภิรมย์ ออกอากาศทางวิทยุ ซึ่งคนในวงการลูกทุ่งถือกันว่าครั้งนั้น เป็นการโคจรมาเจอกันของสองอัจฉริยะในด้านนี้ในแบบที่คลาสสิกมากๆ


พร ภิรมย์ ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน 2 ครั้งจากเพลงบัวตูมบัวบาน และ ดาวลูกไก่ และได้รับรางวัลกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ในปี พ.ศ. 2532 จากเพลงบัวตูมบัวบาน และ พ.ศ. 2534 จากเพลงดาวลูกไก่

พร ภิรมย์ บวชเป็นพระภิกษุ ฉายา “ปุญญวังโสภิกขุ “ อยู่ที่วัดรัตนชัย (วัดจีน)ต.หอรัตนชัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ. พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 โดยตอนแรกตั้งใจจะบวช 3 เดือน เพื่อจะแผ่ส่วนกุศลถวายแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่นำเรื่องของพระองค์มาเขียนเป็นบทเพลง แต่เมื่อถึงกำหนดลาสิกขาบท พร ภิรมย์  ก็มิได้ลาสิกขาบทแต่อย่างใด
ถือได้ว่าพร ภิรมย์ เป็นอัจฉริยะอีกคนหนึ่ง เพราะมีความสามารถในด้านต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง , แต่งเพลง, เล่นลิเก, พากย์หนัง, แสดงภาพยนตร์, เล่นดนตรีจีน, กลอนสด และทำขวัญนาค รวมทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดแห่งเจ้าพ่อเพลงแหล่ และเป็นนักร้องนักแต่งเพลงผู้โด่งดังและเป็นแบบอย่างกับนักร้องลูกทุ่ง รุ่นหลังๆหลายต่อหลายคน โดยนอกจาก ไพบูลย์ บุตรขันแล้ว พร ภิรมย์ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่แต่งเพลงใช้คำที่วิจิตร และมีความหมาย เพลงของ พร ภิรมย์ ทุกเพลงเป็นตัวอย่างการใช้ภาษาไทยได้ดีที่สุด ทุกเพลงรักษาฉันทลักษณ์และชั้นเชิงกานท์กวีไว้ได้อย่างไม่มีจุดบกพร่อง และทุกเพลงไม่ก่อให้เกิดกำหนัด ซึ่งท่านใช้คำว่า เพลงใฝ่ต่ำ จึงถือกันว่าเพลงของ พร ภิรมย์ เป็นเพลงสะอาดบริสุทธิ์ โดยเจ้าตัวเคยบอกว่าเราเกิดมาชาติหนึ่งพึงสำนึกว่าจะสามารถตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ครูบาอาจารย์อุปัชฌาย์ได้อย่างไร และสิ่งที่ท่านยึดเป็นหลักการส่วนตัวของท่านคือการเขียนเพลงโดยไม่ทำลายภาษาไทย

รางวัลที่ได้รับจากผลงานเพลงที่เป็นที่รู้จักได้แก่


ปีพ.ศ. 2509 รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ถึง 2 รางวัล จากเพลงบัวตูมบัวบาน และ ดาวลูกไก่

ปีพ.ศ. 2514 รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากเพลง กลับเถิดลูกไทย

ปีพ.ศ. 2532 รางวัลกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย จากเพลงบัวตูมบัวบาน

ปีพ.ศ. 2534 รางวัลกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย จากเพลง ดาวลูกไก่

ปีพ.ศ. 2553 รางวัลพระคเณศ กรมศิลปากร จากเพลง ดาวลูกไก่

ปีพ.ศ. 2553 รางวัลการเชิดชูปูชนียบุคคลเกียรติยศ ทางด้านผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นแห่งชาติ

จนเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2553 เวลา 12.00 น.  หลวงพ่อพร ภิรมย์ อดีตนักแต่งเพลงดังอมตะ อย่างเพลง ดาวลูกไก่, บัวตูมบัวบาน ได้มรณภาพอย่างสงบจากอาการปอดติดเชื้อ หลังอาพาธ เนื่องจากเส้นเลือดสมองตีบ ขาขวาไม่มีแรงเดิน     หลังเข้ารักษามาเป็นเวลานานหลายเดือน ณ โรงพยาบาลสงฆ์ รวมอายุได้ 82 ปี พรรษา 29

ปอง ปรีดา-คำปัน ผิวขำ

ปอง ปรีดา-กูเกิดมาเพื่อร้องเพลง

ปอง ปรีดา (พ.ศ. 2475 - 6 มกราคม พ.ศ. 2554) เป็นนักร้องลูกทุ่งเสียงดี มีความพิเศษตรงที่ร้องเพลงเสียงสูงได้ดี เนื่องจากมีปอดที่ใหญ่ เขาเคยประกาศประโยคเด็ดว่า “กูเกิดมาเพื่อร้องเพลง”นอกจากนั้นก็ยังนักแต่งเพลงฝีมือดีจากดินแดนที่ราบสูง เขาสร้างสรรค์ผลงานเพลงเอาไว้มากมาย และได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รักดินแดนบ้านเกิดอย่างยิ่ง เมื่อเป็นผู้ที่ร้องเพลงที่บอกเรื่องราวถึงแม่น้ำโขงเอาไว้มากที่สุดในประเทศไทย ปอง ปรีดา มีชื่อเสียงโด่งดังจากเพลง “ สาวฝั่งโขง

ปอง ปรีดา มีชื่อจริงว่า คำปัน ผิวขำ เกิดเมื่อปี 2475 ที่ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จบการศึกษาชั้น ม.2 (ระบบเก่า) แผนกช่างไม้ โรงเรียนช่างไม้ขอนแก่น ซึ่งในระบบนี้ ระดับชั้นสูงสุดคือ ม.3 ปอง ปรีดา ให้เหตุผลที่ไม่เรียนให้จบว่าขี้เกียจเรียน ขณะที่ลึกๆ อาจจะเป็นเพราะการอยากเป็นนักร้อง


ปอง ปรีดา ชื่นชอบเพลงของสมยศ ทัศนพันธุ์อย่างมาก และจะคอยจำเนื้อเพลงจากรถขายยาที่เข้ามาในหมู่บ้าน หรือไม่ก็จากหอกระจายข่าวของหมู่บ้าน นอกจากนั้นเขาก็ยังตระเวนประกวดตามเวทีต่างๆ และก็กวาดรางวัลมาเสียมาก ด้วยความช่วยเหลือของเพลง “ บทเรียนชีวิต” และ “เสน่ห์แม่นาง “ ของสมยศ ทัศนพันธ์
เมื่อมีความมั่นใจมากขึ้น ปอง ปรีดา หนุ่มรูปร่างผอมดำ ก็ตัดสินใจเข้ามาในกรุงเทพ เพื่อตามหาฝันในการเป็นนักร้องของเขาด้วยความช่วยเหลือของพนักงานไฟฟ้าที่มาที่หมู่บ้านเพื่อสำรวจติดตั้งไฟฟ้า เมื่อมาถึงกรุงเทพ พนักงานไฟฟ้าคนนั้น พาปอง ปรีดา มาฝากที่วงสมยศ และวงอื่นๆอีกหลายวง แต่ก็ถูกปฏิเสธเสียทั้งหมด จนผู้อุปการะต้องยอมโบกธงเลิกรา (บางตำราบอกว่าเขาเคยมาสมัครเป็นนักร้องวงดุริยางค์ทหารอากาศด้วย) และปอง ปรีดา ต้องไปขายแรงงานเป็นกรรมกรโรงเลื่อยย่านเกียกกาย เพื่อหาเลี้ยงชีพ และต่อมา เมื่อครูสุดใจ เจริญรัตน์ ครูมวยแห่งค่ายมวยเกียรติสงคราม เห็นแวว จึงชวนมาหัดชกมวย เขาหารายได้เสริมด้วยการตระเวนชกมวยในเมืองหลวงและปริมณฑลในชื่อ “วิเชียร ศิษย์จำเนียร “ (บางตำราบอกว่า สิงห์น้อย เกียรติสงคราม) และมีสถิติการชก 25 ครั้ง ไม่เคยแพ้ใคร โดยครั้งแรกชนะน็อคที่บ้านแพน แต่ปอง ปรีดา มีความใฝ่ฝันที่จะเป็นนักร้องมากกว่านักมวย จึงตัดสินใจเลิกชก และตระเวนประกวดร้องเพลงต่อ ก่อนจะมาขออาศัยอยู่กับพระที่วัดบางอ้อ ต่อมาได้ไปเป็นคนงสานโยธา กรมช่างอากาศบำรุง แถวบางซื่อ แต่ก็มักจะหลบงานเพื่อออกไปประกวดร้องเพลงตามงานวัดแถวๆนั้น และก็มักจะคว้ารางวัลมาเป็นประจำ หลังจากตระเวนประกวดอยู่ระยะหนึ่ง และกลับมามีความมั่นใจมากขึ้น ก็วานเพื่อนให้พาไปฝากกับครู นารถ ถาวรบุตร หัวหน้าวงดนตรีโรงงานยาสูบ ที่คลองเตย และก็มีโอกาสได้อยู่รับใช้ครู พร้อมกับติดตามไปกับวงดนตรี และได้ร้องเพลงเมื่อนักร้องขาด จนถึงขั้นได้ร้องเพลงออกอากาศที่กรมประชาสัมพันธ์ และก็ฝันที่จะได้เป็นนักร้องอัดแผ่น ระหว่างนั้น วิม อิทธิกุล และ สกล เรืองสุข ได้ร่วมกันแต่งเพลงเขมรพวงให้ร้องด้วย แต่ไม่ถึง 2ปีต่อมา เมื่อมารู้ความจริงว่าโรงงานยาสูบ ไม่มีนโยบายส่งเสริมให้นักร้องบันทึกเสียง ประกอบกับความไม่ชัดเจนในรายได้ ปอง ปรีดา จึงออกมา และมาที่โรงเรียนสหมิตรดนตรี ที่ครูดนตรีชื่อดังของเมืองไทยราว 50คนได้ร่วมกันตั้งขึ้น โรงเรียนแห่งนี้เป็นแผนกหนึ่งของบริษัท สหมิตรดนตรีจำกัด ที่ทำธุรกิจ ผลิตเพลง ทำแผ่นเสียง และ ขายเครื่องดนตรีเป็นหลัก แต่ปอง ปรีดา ก็ที่นี่ถูกปฏิเสธ แต่ด้วยความเชื่อมั่นในบรรดาครูเพลงเหล่านี้ เขาก็ทนหน้าด้าน หอบข้าวของมาอาศัยอยู่ที่โรงเรียน โดยเสนอตัวทำงานรับใช้ทุกอย่างด้วยความขยันขันแข็งเพื่อหวังสร้างความประทับใจ ขณะที่บางครั้งตัวเองก็ต้องอดข้าวอดน้ำ ถ้าไม่มีใครเมตตามอบข้าวน้ำให้

 

หลังจากทนอยู่ระยะหนึ่ง ครูนคร ถนอมทรัพย์ หรือ กุงกาดิน เกิดความสงสาร และเมื่อทดลองให้เขาร้องเพลงที่ร้องยาก ซึ่งเขาก็ทำได้ดี ครูจึงตัดสินใจนำเขาไปแนะนำกับ ครูมงคล อมาตยกุล และเอาไปฝากกับวง “ ประเทืองทิพย์ “ ของ ประเทือง บุญญประพันธ์ ปอง ปรีดา อยู่รับใช้ครูประเทือง 2 ปี ก็มีโอกาสได้ร้องเพลงออกอากาศทางสถานีวิทยุ สทร. ท่าราชวรดิษฐ์ ซึ่งครูประเทืองมีหมายการแสดงอยู่สัปดาห์ละครั้ง ขณะเดียวกันตามแผนปลุกปั้น ปอง ปรีดายังต้องคอยรับใช้ครูมงคลด้วย ซึ่งระหว่างนั้นครูนครก็แนะนำเรื่องการร้องเพลง เป่าแคน และการเลียนเสียงนกกา การเป่าใบไม้ เพื่อให้เขานำไปแสดงความสามารถให้ครูมงคลได้ชมถ้ามีโอกาส  ต่อมาปอง ปรีดา ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ส่งแผ่นเสียงที่ผลิตไปวางขายตามห้างแผ่นเสียง และเก็บเงินค่าแผ่นเสียง ต่อมาได้มีโอกาสเป่าแคน และทำเสียงเป่าปากในการบันทึกเสียงให้กับนักร้องหลายคนที่ครูมงคลพามาบันทึกแผ่น รวมทั้งสุรพล สมบัติเจริญ และทูล ทองใจ ขณะเดียวกันครูนคร ก็แนะนำให้เขาลองแต่งเพลงด้วย ซึ่งเพลงแรกที่เขาแต่งได้สำเร็จคือเพลง “กลับอีสาน “และเป็นเพลงแรกที่เขาได้บันทึกเสียง


แต่เคราะห์กรรมก็ยังไม่หมดสิ้น เพราะเพลงนี้นอกจากจะไม่ดังแล้ว ยังถูกทางการห้ามเปิด เพราะกระแสความตื่นกลัวเรื่องการแบ่งแยกดินแดนในภาคอีสาน งานนี้ทั้งครูนคร และปอง ปรีดา ต่างก็ถูกครูมงคลดุเอาทั้งคู่ ต่อมาครูนครได้แนะนำให้เขาแต่งเพลงเกี่ยวกับแม่น้ำโขง โดยมีเนื้อหาชมความงามของผู้หญิง ตามแบบเพลง “เบิ่งโขง “ของเฉลิมชัย ศรีฤๅชา ปอง ปรีดา ลองแต่งอีกครั้ง และได้ออกมาเป็นเพลง “ สาวฝั่งโขง “หลังได้รับการตรวจทานโดยครูร้อยแก้ว รักไทยอยู่หลายครั้ง ครูมงคล ก็ตัดสินใจว่าจะลองดูกับลูกศิษย์คนนี้อีกสักครั้ง หลังจากที่ผิดหวังมาจากครั้งแรก แต่ในปี 2501 เพลงนี้ก็ได้พลิกชีวิตให้ปอง ปรีดา ได้ขึ้นมาโลดแล่นในวงการจวบจนชีวิตเข้าสู่วัยชรา สำหรับชื่อปอง นั้น ครูมงคล เป็นคนตั้งให้ ส่วนปรีดานั้น สัมพันธ์ อูนากูล ตั้งให้หลังจากเพลงดัง เขาก็ถูกบรรจุเข้าเป็นนักร้องรุ่นแรกๆของวงจุฬารัตน์ ที่ครูมงคลตั้งขึ้นในปี 2501 แทนวงลีลาศมงคล อมาตยกุล ขณะที่นักร้องคนอื่นๆก็มีครูนคร ที่ร้องเพลงสากล เบญจมินทร์,ชัย อนุชิต ทูล ทองใจ และ พร ภิรมย์ ปอง ปรีดา ที่ผลิตเพลงดังอย่างเทพีเชียงใหม่ สาวอยู่บ้านใด๋ และสาวป่าซาง รวมทั้งเคยไปแสดงถึงประเทศลาวมาแล้ว อยู่กับวงจนถึงปี 2506 ก็ลาออกเพราะขัดแย้งกับเพื่อนในวง จากนั้นก็ไปอยู่กับวง “ รวมดาวกระจาย” ของครูสำเนียง ม่วงทอง จนถึงปี 2511 ก็ลาออกเพราะมีปัญหากับคนในวง  จากนั้นในปี 2512 เขาก็กลับอีสาน และร่วมกับเพื่อนตั้งวง “ปอง ปรีดา “ตระเวนรับงานแถวจ.อุดรธานี แต่ก็เกิดปัญหาบางประการจนต้องยุบวงในปีเดียวกันนั้น ต่อมา ปอง ปรีดา ได้หันมาทำไร่ และปักหลักอยู่ที่ลำนารายณ์ จ.ลพบุรี แต่ก็ยังรับงานร้องเพลงตามงานต่างๆ ในระยะ มีผู้มาซื้อเพลงที่เขาแต่งด้วยเงินก้อนโต ในปี 2521 ศรชัย เมฆวิเชียร มาซื้อเพลงสาวฝั่งโขง และ สาวอยู่บ้านใด๋ ของเขาไปบันทึกเสียงใหม่ จนโด่งดัง ซึ่งในการบันทึกเสียง ปอง ปรีดาก็ยังไปช่วยผิวปากให้ด้วยจวบจนเข้าสู่วัยชรา ปอง ปรีดา ในวัยกว่า 70 ปี ก็ยังรับจ้างร้องเพลงอยู่
"ปอง ปรีดา" เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังเมื่อ 24 กันยายน 2550 ว่าการเข้าสู่เมืองหลวง จากนั้นได้รู้จัก "กุงกาดิน" หรือ นคร ถนอมทรัพย์ ได้แนะนำให้ลองแต่งเพลง ซึ่งเพลงแรกที่บันดาลใจออกมา คือ เพลง"กลับอีสาน"และได้บันทึกเสียงในเวลาต่อมา จากนั้นพาไปฝากกับครูมงคล อมาตยกุล และอยู่กับ"วงประเทืองทิพย์"ของประเทือง บุญญประพันธ์ ปอง ปรีดา อยู่รับใช้ครูประเทือง 2ปีจึงมีโอกาสร้องเพลงออกอากาศสถานีวิทยุที่ท่าราชวรดิฐ ระหว่างนั้นครูมงคลได้สอบถามถึงสภาพแม่น้ำโขง จนเป็นแรงบันดาลใจให้แต่งเพลงเกี่ยวกับแม่น้ำโขงหลายเพลง "ครูมงคลสอบถามถึงบรรยากาศแม่น้ำโขงขึ้นมา ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจแต่งเพลง สาวฝั่งโขง ในปี 2501 เพลงสาวฝั่งโขงโด่งดังอย่างมาก แต่ชื่อของผมออกเสียงยาก ครูมงคล อมาตยกุล จึงตั้งชื่อให้ใหม่ว่า ปอง ส่วน สัมพันธ์ อุนากูล ตั้งต่อท้ายว่า ปรีดา เป็นที่มาของชื่อ ปอง ปรีดา นักร้อง 1 ใน 3 ขุนพลวงดนตรีจุฬารัตน์ ร่วมกับ พร พิรุณ และ ทูล ทองใจ"  นอกจากนี้ ปอง ปรีดา มีความสามารถ เป่าแคน เลียนเสียงสัตว์ อีกด้วย และจากเนื้อหาบทเพลงสละสลวย ประกอบกับน้ำเสียงอันไพเราะและมีเอกลักษณ์ ซึ่งเพลงที่ร้องส่วนใหญ่ประพันธ์เอง โดยนำท่วงทำนองและภาษาพื้นบ้านภาคอีสานมาใส่ด้วย อย่างก็ตาม ในช่วงเพลงลูกทุ่งลดความนิยม เขาจึงมุ่งหน้ามาตั้งรกรากอยู่ที่ลพบุรี ที่บ้านหนองเต่า ต.ชัยนารายณ์ อ.ชัยบาดาลตั้งแต่ปี 2512มี "มัสชา ปาทาน" เพื่อนสนิทสนับสนุน ทำธุรกิจ ทำไร่ และลงหลักปักฐานมีครอบครัวอยู่ที่นี่ ขณะเดียวกัน ยังรับงานร้องเพลงตามงานทั่วไป บางงานเพียง 4,000 ถึง 5,000 บาท ไปไกลหน่อยก็ 10,000 บาท


เขาเคยกล่าวในงานที่ชาวขอนแก่นจัดพิธี มุทิตาจิตศิลปินมรดกอีสาน "ปอง ปรีดา" วาระครบรอบ 78 ปี ว่าที่ไม่ได้ถูกเสนอชื่อเป็นศิลปินแห่งชาติ "เพราะไม่มีพรรคพวก"
ปอง ปรีดา เสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554 เวลา 11.30 น ที่โรงพยาบาลชัยบาดาล ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด [1]